สาระสำคัญของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

  1. ความเป็นมา

    ๑.๑ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔๑ กำหนดให้คณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จัดให้มีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง เพื่อประสานให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกัน และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดประชุม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๖๐ ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้วรวม ๑๐ ครั้ง มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น จำนวน ๗๗ มติ และสำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ มีกำหนดจัดระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อประเด็นหลักของงาน “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ”

    ๑.๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มีหน่วยงาน องค์กรและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เสนอประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพมารวม ๖๕ ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่มาจากการเสนอขององค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน ๔๓ องค์กร ซึ่ง คจ.สช. ได้พิจารณากลั่นกรองประเด็นทั้งหมดนี้ โดยพิจารณาถึงเรื่องความสำคัญเร่งด่วน ความรุนแรงของปัญหา และเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน และในที่สุดได้ประกาศเป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรวมทั้งสิ้น จำนวน ๔ ระเบียบวาระ ประกอบด้วย ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy for NCDs Prevention and Management) การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Co-Creating Public Spaces for Healthy Cities Towards Sustainable Development) ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก(E-Sports: Social Responsibility for Child Health) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม(Consumer Protection in Dental Services)

  2. กระบวนการทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายของ ๔ ระเบียบวาระ

    คจ.สช. ได้มีกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง ๔ ระเบียบวาระ โดยการทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการให้ความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอมาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อพัฒนาข้อเสนอจนได้เอกสารหลักและร่างมติประกอบระเบียบวาระ สำหรับให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมประชุมพิจารณาหาฉันทมติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๖๑ ต่อไป (เอกสารหลักและร่างมติ สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.samatcha.org)

  3. การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

    ภาคีเครือข่ายจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน ที่มาร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะเวลา ๓ วัน ประกอบด้วย ๑) สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เป็นผู้แทนจาก ๗๖ จังหวัด และ ๖ โซน กรุงเทพมหานคร ๒) สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เป็นผู้แทนจากคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ๓) สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เป็นผู้แทนจากเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาครัฐ-การเมือง ๔) ผู้ทรงคุณวุฒิ ๕) ผู้สังเกตการณ์ และ ๖) กลุ่มอื่น ๆ โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะร่วมกันพิจารณาหาฉันทมติของข้อเสนอเชิงนโยบายของทั้ง ๔ ระเบียบวาระข้างต้น เพื่อนำข้อเสนอฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ ๑) “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ” โดย คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เพื่อเป็นการปรึกษาหารือและร่วมแลกเปลี่ยนความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยงาน/ องค์กร และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน ๒) “การเสวนานโยบายสาธารณะ” เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นสำคัญ 
ที่เกี่ยวกับการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ของภาคีเครือข่าย เช่น การประชุมวิชาการ เป็นต้น ๓) “ลานสมัชชาสุขภาพ” เป็นการนำเสนอรูปธรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา และการนำเสนอเครื่องมือนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของ สช. และหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่าย รวมถึงต่อยอดการขึ้นรูปและการขับเคลื่อนต่อไป ในรูปแบบ การนำเสนอด้วยนิทรรศการ และการเสวนา เป็นต้น โดยมีความคาดหวังว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ จะทำให้สมาชิกกลุ่มเครือข่ายจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้เป็นจริง เกิดการประสานเครือข่ายในประเด็นต่าง ๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สามารถนำกลับไปขยายผลเพื่อแก้ทุกข์ สร้างสุข ในชุมชนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานองค์กรต่อไปได้