การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

การประเมินผลกระทบการดำเนินงานควบคุมไข้เลือดออก โดย คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

สถานที่:

ห้องประชุม 4 (BB402 ชั้น4)

วัน/เวลา:

๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ 14:00 - 17:00 น.

ความสำคัญ

 

การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

จากมติสานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนมติ 10 ข้อ โดยจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558  (มติ 3 และ 6) สู่แผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย พ.ศ.2562 – 2564 ร่วมกับ สสส. จัดทำสื่อ ประชาสัมพันธ์เรื่อง “เอาจริงให้           ยุงสิ้นลาย” เพื่อสร้างความตระหนักให้กับสาธารณะ  รวมทั้งผลักดันเกณฑ์การประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออก ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2561 พบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากในเดือนเมษายน และมีแนวโน้มคล้ายกับการระบาดใหญ่ในปี 2558 กรมควบคุมโรค จึงได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) ระดับกรม ในเดือนพฤษภาคม และยกระดับเป็นระดับกระทรวงในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) เพื่อหารือและจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่โดยบูรณาการกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ใช้ชื่อโครงการว่า “อาสาปราบยุง ควบคุมโรคไข้เลือดออก” และ kick off ในวันที่ 11 ก.ค. 61 จนถึงปัจจุบัน เพื่อดำเนินการตามมาตรการในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูฝน โดยแบ่งพื้นที่เป็น พื้นที่ระบาด และพื้นที่เสี่ยง เน้นมาตรการควบคุมโรคเข้มข้น ทุกชุมชน         ทุกหลังคาเรือน โดยมีเป้าหมาย คือ จำนวนผู้ป่วยในอำเภอลดลงจนไม่เป็นพื้นที่ระบาด และไม่พบลูกน้ำยุงลายในชุมชนและสถานที่ต่างๆ และในเดือนตุลาคม ศูนย์อำนวยการใหญ่ โครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ ได้เชิญ         กรมควบคุมโรคเข้าร่วมประชุมหารือดำเนินกิจกรรมจิตอาสา พัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ระหว่างวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2561 ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมากจากจิตอาสาทั่วประเทศ      

            จากการปฏิบัติการสานพลังปราบยุงลายฯ อย่างต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน ตุลาคม มีรายงานผู้ป่วยต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง บ้านได้รับการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ จำนวน37,732,368 ครั้ง ศาสนสถาน  252,002 ครั้ง โรงเรียน 192,120 ครั้ง และโรงพยาบาล 55,617 ครั้ง ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในทุกสถานที่ และต่ำกว่าร้อยยะ 1 ในสถานพยาบาล ( ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561)

            การดำเนินงานต่อจากนี้ กรมควบคุมโรค จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพในพื้นที่      ผู้ประสานงานเขตสุขภาพ และผู้รับผิดชอบจากหน่วยงานของรัฐในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ ผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายระดับอำเภอทุกแห่ง  จัดทำแผน/โครงการตัวอย่างให้พื้นที่เพื่อขอใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบล  ใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการระบาดภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกณฑ์การประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออก ซึ่งผ่านมติกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 นอกจากนี้จะขยายฐานการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ผ่านทางโซเชียล และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของภาคส่วนต่างๆ

 

โมเดลการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชนอย่างยั่งยืน : เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ดูแล รักษาและ

 ส่งต่อ

โมเดลหรือรูปแบบการดำเนินงานใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อติดตั้งระบบภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ ระบบนิเวศของยุง สมรรถนะชุมชน และบริการสุขภาพ ดำเนินการโดยกลุ่มคน 4 กลุ่ม กลุ่ม A เป็นผู้ผลิตข้อมูล ได้แก่ ประชาชนและ อสม. กลุ่ม B กลุ่มศูนย์เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายหรือเจ้าหน้าที่ทำงาน กลุ่ม C คือ กลุ่มผู้ใช้ข้อมูล และกลุ่ม D คือ กลุ่มสนับสนุนให้ความสะดวกกับการดำเนินการ โดย เริ่มดำเนินการในระดับตำบล (กำแพงเซาโมเดล) ถึงระดับอำเภอ (ลานสกา โมเดล) จากนั้นขยายผลจากอำเภอสู่จังหวัด (สุราษฎร์ธานี โมเดล) ประกอบด้วย 7 กิจกรรมหลักที่สามารถปรับตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่    คือ กิจกรรมที่ 1 ประเมินหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของไข้เลือดออก (dengue risk assessment) และสิ่งแวดล้อมชุมชนเพื่อกำหนดพื้นที่เสี่ยงในการเฝ้าระวัง กิจกรรมที่ 2 ติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย (Laval indices surveilence system) จากการดำเนินการของครัวเรือนที่ อสม.รับผิดชอบผ่านการดำเนินการของแต่ละ รพ.สต. กำหนด 6 ขั้นตอน (1) เจ้าของบ้านทำการสำรวจทุก 7 วัน (๒) อสม.สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน (3) อสม.หัวหน้าโซนรวบรวมข้อมูลทุกวันที่ 28 ของเดือน (4) อสม.หัวหน้าหมู่บ้านรวบรวมทุกวันที่ 30 (5) ศูนย์เฝ้าระวังระดับตำบลบันทึกข้อมูล สื่อสารผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น นำประโยชน์ (๖) นายอำเภอ แจ้งข้อมูลในที่ประชุมผู้นำ ผู้เกี่ยวข้องของอำเภอ กิจกรรมที่ 3 พัฒนาโปรแกรมดัชนีลูกน้ำยุงลาย http://lim.wu.ac.th โดยเตรียมความพร้อมของศูนย์เฝ้าระวังระดับตำบล โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกของ รพ.สต. รพช. และเทศบาล ตัวอย่างเช่น http://lim.wu.ac.th และ limsurat.wu.ac.th กิจกรรมที่ 4 ประเมินและเตรียมความพร้อมของ อสม. เกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจดัชนีลูกน้ำยุงลาย กิจกรรมที่ 5 การประเมินและกระตุ้นการสร้างสมรรถนะชุมชน ของหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูงหรือการดำเนินการในระดับตำบล กิจกรรมที่ 6 พัฒนางานประจำให้เป็นงานวิจัย ด้วยทีมแกนนำของอำเภอ รพ.สต. ตำบล และหมู่บ้าน (Routine to area based collaborative research for development : R to ABCR for D) และกิจกรรมที่ 7 การทำงานเชิงเครือข่าย และขยายเครือข่ายไปยังอำเภอและจังหวัดอื่นๆ

 

การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ  ปี 2559-2561

ในปี 2558 อำเภอเกษตรสมบูรณ์ พบอัตราป่วยโรคไข้เลือดออก 289.4 ต่อแสนคน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ในปี 2559 พบปัญหาคือการใช้สารเคมีไม่ได้ผล ชุมชนมองว่าเป็นหน้าที่ของ อสม.และ รพ.สต. จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย มีการประชุมวางแผนโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับอำเภอ คือ มาตรการหมู่บ้าน 3 เก็บ 3 ฤดูกาล ป้องกัน 3 โรคอย่างยั่งยืน มีการมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละภาคส่วนที่ชัดเจนในระดับตำบลและหมู่บ้านคือ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น             อสม. และ รพ.สต. โดย สสอ. สนับสนุนด้านวิชาการ ข้อมูล และการประเมินผล (ทีม SAT) มีการประเมินผลโดยใช้การประกวดหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลายทุกหมู่บ้าน ตามเกณฑ์ปีละ 3 ครั้ง คือค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ร้อยละของภาชนะที่มีน้ำขังมีการปิดฝาหรือปล่อยปลากินลูกน้ำ และความสะอาดของหมู่บ้าน หลังการประเมินมีการคืนข้อมูลให้ภาคีเครือข่ายทุกครั้ง โดยเปรียบเทียบผลเป็นรายหมู่บ้าน เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้นำชุมชนและ อสม. โดย สสอ. และ รพ.สต. ใช้ข้อมูลในการเฝ้าระวังโรคและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง โดยมีการมอบรางวัลให้หมู่บ้านที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น 10 หมู่บ้าน ในวันประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเสริมพลังในกลุ่มผู้นำชุมชน มีการดำเนินการต่อเนื่องในปี 2560 ส่วนในปี 2561 คณะกรรมการ พชอ. ได้กำหนดนโยบายคือ “หมู่บ้านปล่อยปลาปิดฝาโอ่ง 100%” เน้นการสร้างความตระหนักของประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยใช้วิธีการที่ชุมชนสามารถดำเนินการเองได้คือปล่อยปลากินลูกน้ำยุงลาย    มีกองทุนปลากินลูกน้ำ และการทำฝาโอ่งใช้เองในชุมชนจากมุ้งเขียว ซึ่งประหยัดและยั่งยืน

พบว่าผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเอง มีการทำฝาโอ่งโดยใช้มุ้งเขียวซึ่งสามารถทำได้เอง มีการปล่อยปลากระดี่ในภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งสามารถหาได้ในธรรมชาติ ทำให้มีความยั่งยืนและลดการใช้สารเคมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการควบคุมโรคตามมาตรการ 3-3-1 และสนับสนุนงบประมาณการจัดซื้ออ่างเลี้ยงปลาและมุ้งเขียวปิดฝาโอ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย (HI) และจำนวนผู้ป่วยลดลง เมื่อเทียบกับปี 2558 และอำเภอเปรียบเทียบ

 

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแผนงานป้องกันควบคุมไข้เลือดออก

แผนงานของรัฐฯจากทุกภาคส่วน เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ ดังกรณีของแผนงานป้องกันควบคุมไข้เลือดออก ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการสื่อความหมาย สื่อความเข้าใจ เทคนิควิธีการ และวิธีปฏิบัติงานของทีมงานสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นข้อปฏิบัติที่รัฐ สื่อให้ประชาชนนำไปดำเนินการเพื่อร่วมกันป้องกันควบคุมไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นโรคกับเด็กในเขตเมือง มาเป็นปัญหากับเด็กและผู้ใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

องค์การอนามัยโลกถึงกับประกาศให้ ไข้เลือดออกเป็นโรคกำพร้า (Neglected Disease) หรือ โรคที่ขาดความใส่ใจที่จะควบคุมให้ได้อย่างจริงจังใน พ.ศ. 2560 สช. ได้จัดให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ เป็นงานสนับสนุนแก่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมกับผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ในพื้นที่ที่เลือกจากอำเภอ และจังหวัด ที่ควบคุมโรคอย่างได้ผล กับ พื้นที่ยังควบคุมไม่ได้ดีนักทั่วประเทศ แนวทางในการผลกระทบทางสุขภาพต่อแผนงานระดับประเทศจึงเป็น กรณีตัวอย่างที่ดีสำหรับให้ข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดปฏิบัติการ         ที่ใช้กลยุทธ์ และกลวิธี ได้อย่างมีประสิทธิผล เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่

การประเมินผลกระทบ (Impact Assessment) ของแผนงานจึงมุ่งไปแสวงหาการร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน เพื่อตอบประเด็นการปรับใช้กลยุทธ์ที่กำหนดในส่วนกลางอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (Scientific) และใช้กลวิธีทำงาน ที่เป็นจริง (Feasibility) ได้ในแต่ละพื้นที่ชุมชน ทำให้สามารถหาความเห็นร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และผู้กำหนด นโยบาย ในการปรับแก้แนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการดำเนินงาน

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) จึงเป็นคำตอบสำคัญ ที่ช่วยให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีโอกาสที่จะประเมินข้อจำกัด อุปสรรค หรือ ข้อผิดพลาดทางวิชาการ เชิงปฏิบัติ หรือ ขาดความพร้อมทางทรัพยากร ทำให้ไม่อาจหยุดยั้งการแพร่ระบาดของปัญหาสุขภาพได้ และช่วยให้ค้นหาแนวทางปรับแก้ร่วมกันในระหว่างทุกฝ่าย เพื่อนำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเงื่อนไขบริบทของหน่วยงานในแต่ละพื้นที่

ช่วงที่ ๑

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

 (๗๕ นาที : ท่านละ ๑๕ นาที)

ดำเนินรายการโดย

อาจารย์สัญชัย  สูติพันธ์วิหาร  อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

๑๔.๐๐ – ๑๔.๑๕ น.      การดำเนินงานตามแผนงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่

โดย แพทย์หญิงดารินทร์ อารีย์โชคชัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

๑๔.๑๕ – ๑๔.๓๐ น.     การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ มติ ๔

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวิน

 

๑๔.๓๐ – ๑๔.๔๕ น.      พื้นที่รูปธรรมการดำเนินงานควบคุมไข้เลือดออก : เกษตรสมบูรณ์โมเดล จ.ชัยภูมิ

โดย  นายชาญชัย  เจริญสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ

 

๑๔.๔๕ – ๑๕.๐๐ น.      พื้นที่รูปธรรมการดำเนินงานควบคุมไข้เลือดออก : ไชยาโมเดล จ.สุราษฏร์ธานี

โดย รศ.ดร. จรวย สุวรรณบำรุง  สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์และหัวหน้าศูนย์

     ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัย

    วลัยลักษณ์

 

๑๕.๐๐ – ๑๕.๑๕ น.      การประเมินผลกระทบการดำเนินงานควบคุมไข้เลือดออก พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๖๐ และ

ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงเชิงกลยุทธ์และกลวิธี 

โดย นพ.วิพุธ พูลเจริญ  ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการ

                            ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

 

 

ช่วงที่ ๒          เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะข้อเสนอนโยบายในการขับเคลื่อนงานในระยะต่อไป

(๓๐ นาที)

 

ช่วงที่ ๓          วิทยากรแต่ละท่านตอบข้อซักถาม และสรุปประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

สานพลังปราบยุงลาย ในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและยั่งยืน  

(๕๐ นาที : ท่านละ ๑๐ นาที)