การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

การขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธ โดย คณะกรรมการที่ปรึกษาการส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ

สถานที่:

ห้องประชุม 3 (BB401 ชั้น4)

วัน/เวลา:

๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ 14:00 - 17:00 น.

หัวข้อเสวนา  “การขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธ”

 

ความเป็นมา

๑. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ มาตรา ๑๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง  เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง   โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อจะรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (right to self-determination) เรื่องการตายอย่างสงบตามธรรมชาติ  นับเป็นหัวใจสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่จะช่วยให้บุคคลเผชิญวาระสุดท้ายแห่งชีวิตอย่างสง่างาม  โดยหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข  ตามมาตรา ๑๒ ดังกล่าว  เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติและฝ่ายผู้ให้การรักษา ให้มีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยในขณะที่ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว เนื่องจากมีการระบุความประสงค์ของผู้ทำหนังสือที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือความต้องการอื่นๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

นับตั้งแต่ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้นตามลำดับ  เช่น

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ระบบบริการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan)

มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ ร่วมกันระหว่าง สช.  กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเชิงระบบที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ  

          องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนาหลักสูตร และแนวทางในการดูแลรักษาแบบประคับประคอง และภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้ความสำคัญและสนใจเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกับการดูแลรักษาแบบประคับประคองจนขยายตัวกว้างออกไปตามลำดับ 

          ๒. ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาอันสำคัญของการขับเคลื่อน ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกระแสการขับเคลื่อนดังกล่าว ได้แก่ การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๔๕ และ แสดงเหตุการณ์สำคัญและมีนัยยะต่อการรับรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติว่าด้วยกฎกระทรวงแห่งมาตรา ๑๒ ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๔

ต่อมามีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยกฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ได้รับรองความชอบด้วยกฎหมายของมาตรา ๑๒ ใน ๒ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) กระบวนการในการร่างกฎกระทรวง และ (๒) เนื้อหาว่าด้วยหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากการเจ็บป่วย

ภายหลังจากความชอบด้วยกฎหมายของเนื้อหาเหล่านี้ การขับเคลื่อนกฎกระทรวงตามมาตรา ๑๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ สช.ยังดำเนินการต่อเนื่องในหลากหลายมิติที่สำคัญ เช่น การสื่อสารทางสังคม เพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคมไทยในเรื่องมาตรา ๑๒  โดย สร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดโลกความรู้เกี่ยวกับสิทธิ ตามมาตรา ๑๒  ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพภาครัฐ วิชาการและประชาสังคม  โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากบทเรียนการทำงานผ่านการเสวนาวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์  เอกสารวิชาการ ให้สถานบริการสาธารณสุข หน่วยงานองค์กรต่างๆ และประชาชนทั่วไป  ตลอดจนสนับสนุนหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดการอบรมความรู้และสัมมนาวิชาการ ให้กลุ่มเป้าหมายหลัก บุคลากรด้านสุขภาพและด้านกฎหมาย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิการตายตามธรรมชาติ

๓. ปัจจุบันมีบุคคล หน่วยงาน องค์กร ที่สนใจร่วมผลักดันวิถีสู่การตายอย่างสงบมากขึ้น  โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิตและมาตรา ๑๒ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ อย่างต่อเนื่องในหลายแนวทาง      ให้บุคลากรด้านสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านกฎหมายมีความรู้ความเข้าใจ การยอมรับและมีการปฏิบัติ ในเรื่อง การดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) และ  และการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย (Living Will)

 

๔. ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐  สช. ได้ขยายขอบเขตของการขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพตามมาตรา ๑๒ ไปสู่การขับเคลื่อนในกลุ่มศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ  เนื่องจากแนวทางการเตรียมตัวตายตามหลักศาสนาพุทธ  มีความสอดคล้องกับหลักการตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐  และความเชื่อทางศาสนาของคนในสังคมไทยเป็นสิ่งที่กำกับพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย   การเรียนรู้ ความเชื่อ และความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและการจัดการเกี่ยวกับความตายของแต่ละศาสนาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป  ทั้งนี้ปัจจุบันความเชื่อและแนวปฏิบัติเรื่องการตายตามหลักพระพุทธศาสนาและตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีการกล่าวถึงกันมากขึ้น  

๕. ในด้านการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการตายดี  สช. ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ศึกษาวิจัยเสริมสร้างองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามแนวพระพุทธศาสนา ตามกฎหมายและทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง  ไปสู่พระสงฆ์รุ่นใหม่หรือพระวิทยากรที่สนใจงานภาคประชาสังคมว่าด้วยสุขภาพและการตายดี รวมทั้งการสร้างเครือข่ายคณะสงฆ์จังหวัดต้นแบบเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาพระสงฆ์วิทยากรต้นแบบที่มีความรู้ด้านการตายดีระดับจังหวัด  โดยได้วางแนวทางขยายผลการพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเป็นผู้นำการเผยแพร่และดำเนินกิจกรรมการตายดีตามแนวพระพุทธศาสนา ให้ครอบคลุมทั้ง ๑๘ ภาคการปกครองคณะสงฆ์  รวมถึงการผลักดันในระดับนโยบายให้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์งานด้าน  สาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และให้มีการขยายต่อเครือข่ายต้นแบบการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการตายดีทางการแพทย์  ทางกฎหมาย และทางพระพุทธศาสนาสู่คณะสงฆ์ทั่วประเทศต่อไป

ดังนั้นในการขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธในระยะต่อไป  จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในระดับพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนการสื่อสารทางสังคมในวงกว้างอย่างเป็นระบบ โดยต้องอาศัยหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการการขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จนนำไปสู่การยอมรับ และการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ต่อไป

 

วัตถุประสงค์

๑. เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองทิศทางการขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในศาสนาพุทธ  ให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนและความเชื่อมโยงกับกลไกองค์กรยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และรูปแบบการสื่อสารในวงกว้าง

๒. เพื่อนำเสนอเนื้อหาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามหลักศาสนาพุทธ ให้กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง   จนนำไปสู่การยอมรับ   และแลกเปลี่ยนแนวทางการการผลักดันในระดับนโยบายให้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์งานด้านสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และการขยายเครือข่ายต้นแบบการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการตายดีในศาสนาพุทธสู่คณะสงฆ์ทั่วประเทศ

 ๓. สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการบูรณาการการขับเคลื่อนสิทธิการตายดี   ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในศาสนาพุทธ  

 

 

หัวข้อการเสวนา

๑. นำเสนอเนื้อหาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายตามธรรมชาติตามหลักศาสนาพุทธ และการขยายเครือข่ายต้นแบบการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการตายดีในศาสนาพุทธสู่คณะสงฆ์ทั่วประเทศ

๒. แลกเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธ  แนวทางการการผลักดันในระดับนโยบายให้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์งานด้านสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

      ๓. แนวทางการพัฒนากลไกที่นำไปสู่การขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธในระดับพื้นที่

      ๔. แนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ทัศนคติเรื่องการตายตามธรรมชาติตามแนวศาสนาพุทธ และการปฏิบัติในเรื่องหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา  ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แก่ประชาชนทั่วไป

 

วิทยากร

ลำดับ

ชื่อวิทยากร

หัวข้อการเสวนา

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.ดร.

พระนักพัฒนามากด้วยวิสัยทัศน์ ผู้สร้างศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคมที่วัดสุทธิวราราม

บุคคลสำคัญที่พัฒนาและวางแผนการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในเรื่องการตายดีในหมู่พระสงฆ์ให้เป็นรูปธรรม ผ่านโครงการการเสริมสร้างองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามแนวพระพุทธศาสนา

    นำเสนอเนื้อหาองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามหลักศาสนาพุทธ

     แนวทางการสร้างเครือข่ายคณะสงฆ์จังหวัดต้นแบบ และขยายผลการพัฒนาเครือข่ายพระสงฆ์ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเป็นผู้นำการเผยแพร่และดำเนินกิจกรรมการตายดีตามแนวพระพุทธศาสนา

 

พระมงคลวชิรากร

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา

ในฐานะเลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

ทิศทางการขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติในศาสนาพุทธ  แนวทางการการผลักดันในระดับนโยบายให้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์งานด้าน   สาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ

ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม จบหลักสูตรชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) รวมตัวกับพระจิตอาสา ในนามกลุ่มคิลานธรรมเข้าไปเป็นจิตอาสาเยียวยาผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต และญาติด้วยธรรมะ มีโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ความสนใจ ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.วชิระพยาบาล รพ.เลิศสิน รพ.ภูมิพล สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.ชลประทาน

แนวทางการพัฒนากลไกที่นำไปสู่การขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติตามแนวทางศาสนาพุทธในระดับพื้นที่

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ)

 

แนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติตามแนวทางศาสนาพุทธในระบบการดูแลแบบประคับประคองตามนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

 

แนวทางการนำแนวปฏิบัติเพื่อการตายดีตามหลักศาสนาพุทธ ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบายและการสนับสนุนผลักดันให้กำหนดเป็นแผนงานงบประมาณประจำปี ของงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม

คุณช่อผกา  วิริยานนท์                         

พิธีกรดำเนินรายการ